วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บริโภคศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องลาบ ภาค 4

กิจกรรมของบ่าวแผ่ว...
เอาล่ะครับ กินลาบกันหนำใจหรือยัง ถ้ายัง...ผมจะพาลงน้ำล่ะนะ...ไปจับปลามาลาบกันเถอะครับ วิ๊ววววว...(วิ่งไปใส่กุงเกงว่ายน้ำ ตีนมนุษย์กบ ใส่แว่นตาว่ายน้ำและสน็อกเกอร์ คว้าผ้าขาวม้าผืนโปรดมาคาดเอว สะพายตะข้อง และแบกแหหลังเบ้อเร่อ...เดินดุ่ยๆไปที่ริมแม่น้ำปิง...นึกภาพดูแล้ว มันเข้ากันได้ด้วยดียังไงก็ไม่รู้เนอะ...)

สมัยที่ผมเป็นบ่าวแผ่ว (บ่าวแผ่ว แปลว่า หนุ่มน้อย) กิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะกับบ่าวแผ่วคนไหน คือการติดสอยห้อยตามพวกหนุ่มๆรุ่นพี่ ไปยิงนกตกปลาครับ และกิจกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่จะไปทางน้ำมากกว่า นอกจากการจับปลาแบบปกติที่คนทั่วๆไป รู้จักกันอย่าง ตกเบ็ด หอดแห ดักไซแล้ว ก็มีวิธีการที่ท้าทายความสามัคคีของกลุ่ม อย่างเช่น
ล้อมโข่

"โข่" หมายถึง ที่รก เช่น "ป่าโข่" หมายถึง "ป่ารกที่มีวัชพืชและเศษตอไม้ต้นไม้สุมกันอยูเยอะๆ" ในที่นี้ "โข่" ก็หมายถึงกองเศษไม้ที่ลอยมาตามน้ำ แล้วติดอยู่กับหินหรือไม้ใต้น้ำ ทำให้กิ่งไม้ เศษสวะที่ลอยมาสมทบ ติดแหงกอยู่ สะสมจนเป็นกองขนาดใหญ่ และพวกปลาต่างๆ จะมาอาศัยหลบภัยครับ พวกหนุ่มรุ่นพี่ก็จะออกสำรวจกันก่อน ว่าจุดไหนที่มี "โข่" และน้ำไม่ลึกเกินไป ส่วนมากจะเลือกเอากองโข่ที่อยู่ในน้ำลึกไม่เกินลิ้นปี่ครับ โธ่...ลึกกว่านี้คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากลอยคอไปมาล่ะสิ...เมื่อกำหนดที่หมายได้แล้ว ก็จะนัดรวมกลุ่มกัน 5-7 คน อาจมีพวกผู้ใหญ่ไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่ ตัดยาวประมาณ150-200 เซนติเมตร เหลาแบนๆ หรือกลมๆเพื่อลบเสี้ยน นำมาสานกันเป็นแผงยาวประมาณ 3-4 เมตร "โข่" หนึ่ง อาจใช้ถึง 5-7 แผง (ตามจำนวนคนพอดีเลย...แบกคนละแผง...)ก่อนจะล้อม ต้องหาไม้อันยาวๆหน่อย ไล่ตีน้ำรอบๆโข่ เพื่อให้พวกปลาตกใจ มุดเข้าไปอยู่ในโข่กัน...จากนั้นก็ลงมือล้อมครับ เมื่อล้อมเสร็จ ก็จะช่วยกันรื้อโข่ออกทิ้งไปด้านนอกล้อมจนหมด ทีนีก็ถึงเวลาจับปลาล่ะครับ จะใช้แห ใช้สุ่ม หรือสวิง ตาข่าย ก็ตามแต่จะเตรียมกันมา...
ล้อมแคว

แม่น้ำในบางช่วง จะมีดินตะกอนสะสม จนกลายเป็นเกาะกลางแม่น้ำ และมักจะมีด้านหนึ่งของเกาะ มีน้ำที่ตื้นเขินไม่เกินหัวเข่า และกว้างไม่มากนัก โดยมากมักเป็นด้านที่ติดกับฝั่งครับ พวกหนุ่มรุ่นพี่อีกเช่นกัน ที่จะเป็นผู้ออกหาโลเคชั่น เมื่อได้ที่เหมาะๆ เราก็จะแบกแผงไม้ไผ่อันเดิม อันเดียวกับที่ใช้ล้อมโข่นั่นแหละ จะต่างกันก็ตรงที่ เราจะเอามากั้นหัวกั้นท้ายของทางน้ำเท่านั้น หลังจากนั้น ก็เช่นเคยครับ ทั้งแห ทั้งสุ่ม ทั้งสวิง บางที่ที่ปลาชุกชุม เอามีดพร้าพันเอาก็ยังอุตส่าห์ได้กินอีกแน่ะ...อ้อ...ลืมบอกไป กิจกรรมนี้ มักจะทำกันกลางคืนครับ ประมาณละครหลังข่าวจบนั่นแหละ จึงค่อยส่องตะเกียงเจ้าพายุออกมากัน ทำกลางวันไม่ได้ครับ ชาวบ้านมาเห็น แล้วจะเดือดร้อน หาว่าเราไปปิดกั้นทางน้ำของเขาซะงั้น...
หะบวก

การหะบวกก็คือการวิดน้ำออกจากแอ่ง ที่คิดว่ามีปลาอาศัยอยู่ จนน้ำแห้งขอด กิจกรรมนี้มักทำกันใน แอ่งน้ำข้างห้วย หรือหนองน้ำที่ไม่ลึกนัก วิธีการนี้มักทำกันช่วงหน้าแล้ง เพราะน้ำน้อย ไม่เหนื่อยแรงมาก พอวิดน้ำออกหมดแล้ว ก็ถึงเวลาจับปลาครับ ช่วงนี้ แต่ละคน แทบจะจำกันไม่ได้เพราะเลอะโคลนกันอย่างทั่วหน้าทั่วตา...โดยใช้วิธีงมไปในโคลนครับ ปลาจะหนีมุดลงไปในโคลนต้องคุ้ยโคลน ให้ปลาหลุดขึ้นมา แล้วตะครุบเอาครับ...กิจกรรมทั้งสามอย่างนี้ จะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ของทุกคนในกลุ่มครับ
เมื่อได้ปลามาแล้ว ก็จะเอามาแบ่งเป็นส่วนๆ เท่าๆกัน ตามจำนวนคน แต่มันทำให้เท่ากันยากชะมัด เพราะบางทีได้ปลาใหญ่ไม่กี่ตัว พวกลูกกระจ๊อกอย่างผมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน จึงได้ส่วนแบ่งเป็นปลาเล็กปลาน้อยอยู่บ่อยๆ ส่วนปลาใหญ่ พวกรุ่นพี่จะให้เหตุผลในการริบของกลางกับพวกผมว่า "ข้าก่อบ่อดั้ยเอา ไปยะหยังตางใด จะเอาไปลาบกิ๋นตวยกั๋นหมดนี่แหละ...สูเขาเป๋นละอ่อน ยะลาบยังบ่าจ้างเตื้อ...กำเดียวอ้ายจะยะหื้อกิ๋น..." ครับ...เป็นเหตุผลที่ดีมากเลยอ๊ะ... เรามาดูกันครับว่า แต่ละครั้งที่ล้อมโข่ ล้อมแคว และหะบวกเนี่ยะ เรามักจะได้ปลาอะไรกันบ้าง เริ่ม แรกสุดครับ
ปลาดุก

ตัวโตๆ มักจะได้จากการล้อมโข่ครับ ส่วนตัวเล็กๆ ถึงขนาดกลาง มักจะจับได้เยอะเมื่อหะบวก ปลาชนิด นี้ก็ทนทานมากๆ ปลาอะไรจะทนแล้งได้เป็นปีๆขนาดนั้น ในหน้าแล้ง มันก็จะมุดโคลน และทำฟองเมือกหุ้มตัวเอาไว้ นอนจำศีลอยู่ใต้ดิน รอฤดูน้ำหลากถัดไป และเวลาจับก็ต้องระวังมาก เพราะถ้าโดนเงี่ยงของมันยักเข้าให้ ล่ะก็ จะปวดมากเลยทีเดียว...ปลาดุกมักจะถูกนำไปปรุงเป็นก้อยครับ อืยส์...แต่ก็มีบ้างที่เอามาทำลาบ โดยเลาะเอาแต่เนื้อมาสับๆๆๆๆ รวมกับผักไผ่ หรือตะไคร้ก็ได้ครับ ดับคาว แล้วจึงนำไปเข้าเครื่องลาบ

ปลาหลิม

หรือปลาช่อน ปลาชนิดนี้ สามารถจับได้ทั้งจากการหะบวก ล้อมโข่ และล้อมแควครับ นิสัยของมันจะชอบขิ้นมาลอยตัวนิ่งๆ ริมตลิ่งน้ำตื้นๆ หรือชายฝั่งเพื่อดักกินเหยื่อ ถ้าเราล้อมแคว ก็มักจะจับได้ด้วยสุ่มครับ พวกที่อยู่ในแม่น้ำ มักจะตัวโตกว่าพวกอยู่ในหนอง แต่บางทีพวกหลิมตัวโต ก็เข้าไปติดแหงกอยู่ในบวกในหนองได้เหมือนกันนะ...ปลาหลิมไม่นิยมนำมาทำลาบครับ จะไปทางต้มส้มเสียมากกว่า แต่ถ้าจะลองทำลาบปลาหลิมล่ะก็ ขอดเกล็ดเลยครับ เก็บเกล็ดไว้นะ ผ่าท้องเอาพุงมันออกมา ตัดหัวตัดหางลอกหนัง ไม่ต้องทิ้งนะครับ ทั้งหัวทั้งหาง ทั้งเกล็ดและหนังเนี่ยะ จากนั้นก็เลาะเอาเนื้ออกมาให้หมด เหลือแต่ก้าง เก็บไว้ด้วยตามเคย เอาเนื้อปลามาสับรวมกับตะไคร้ และผักไผ่จนเนียนเลยครับ แล้วจึง นำไปเข้าเครื่องพริกลาบต่อไป ส่วนหัว หาง ก้าง และพุง เอามาทำต้มส้มไว้ซดน้ำครับ ส่วนเกล็ดปลาเอามาทอดให้กรอบๆเลยเชียว ใช้โรยหน้าลาบได้ครับ
ปลาสร้อยและปลาขาว

ปลาเกล็ดทั้งสองชนิดนี้ มีชุกชุมในแหล่งที่น้ำไหลเอื่อยๆครับ จึงมักจะจับได้จากการล้อมโข่ ล้อมแคว ตัวก็ไม่ใหญ่นักหนอกครับ ปลาขาวตัวใหญ่ที่สุด ที่ผมเคยจับได้ในแม่น้ำ ก็ตัวประมาณฝ่ามือครับ...ส่วน ปลาสร้อย ตัวจะเล็กและเพรียวกว่าปลาขาว นิยมนำมาลาบกันมากในสมัยที่มีชุกชุ่มในแม่น้ำปิงครับ วิธีการก็คือ ขอดเกล็ด ตัดหัว ตัดครีบ ตัดหาง ผ่าท้องเอาเครื่องในออกให้หมด ล้างจนสะอาด หมดลื่นแล้ว จึงค่อยนำมาสับทั้งก้างครับ
ปลาหลาด-ปลาแหลด

หรือภาษากลางเรียกว่าปลากระทิงนั่นเองครับ ปลาหลาด คือปลากระทิงลาย ซึ่งลายของมันสวยงามมาก ทีเดียว ส่วนปลาแหลด ก็น่าจะเป็นปลาหลดนั่นแหละ หน้าตาคล้ายกัน ต่างกันที่ส่วนหางครับ ตัวปลาแหลดมันจะเล็กกว่าปลาหลาด และไม่มีลวดลายอะไรพิศดารครับ ปลาพวกนี้ชอบอาศัยอย่างในโข่ที่มีน้ำไหลผ่านครับ ล้อมโข่ทีไร ก็มักจะได้ปลาหลาดติดมาด้วย แต่ก็แค่ตัวหรือสองตัวเท่านั้นครับ ไม่นิยมนำมาทำลาบหรอกนะ...แต่ผมว่า ปลาชนิดนี้มีเนื้อเยอะดี จะลองเอามาลาบดูสักครั้ง น่าจะอร่อยดี แต่ก็ยังหาตัวมันไม่เจอ ในแม่น้ำธรรมชาติหายากแล้วครับ
ปลาตอง

หรือปลากราย ปลาชนิดนี้ก็ชอบอยู่ในโข่ที่มีน้ำไหล บางครั้งจับได้เป็นสิบตัว จากการล้อมโข่ครับเพราะมันคงจะอยู่กันเป็นฝูงกระมังเนอะ...ปลาตองนิยมนำมาลาบเช่นกันครับ แต่ไม่นิยมการต้ม เพราะก้างเล็กก้างน้อยเยอะเหลือเกิ๊นนนนนนน...การทำลาบปลาตองนั้น ถ้าเป็นปลาตัวเล็ก ก็จะสับกันทั้งก้างล่ะครับ ส่วนพวกตัวบึ้มเว่อร์ ใช้คมมีดค่อยๆขูดเนื้อออกมา สับรวมกับมะเขือแจ้เผา(มะเขือเหลือง) ควักเมล็ดออกสัก 5 ลูก สับจนเหนียวนั่นแหละครับ ค่อยเอามายำลาบ
ปลาเพี๊ย
หรือปลากา (ใช่ไหมหว่า...)สุดยอดของลาบปลา ผมคงต้องยกนิ้วให้ปลาเพี๊ยครับ ปลาชนิดนี้หน้าตาก็อย่างที่เห็นในรูปนี่ล่ะครับ เป็นปลาเกล็ดน้ำจืด ปลาเพี๊ยแม่น้ำในธรรมชาติ ตัวจะไม่ใหญ่มากนัก อย่างมากก็เล็กกว่ามือนิดหน่อยครับ เป็นปลาชนิดที่เป็นมังสวิรัสครับ มันกินอาหารจำพวกสาหร่ายต่างๆ และตะไคร่น้ำเป็นอาหาร นำมาทำเป็นอาหารได้หลายอย่างครับ แต่ที่นิยมที่สุดก็คือ ลาบ นี่แหละ ถ้าล้อมโข่ล้อมแควแล้วจับได้ปลา เพี๊ยสัก 5-6 ตัวล่ะก็ เตรียมกระเพาะไว้รอได้เลยครับ มันจะกลายเป็นราชาแห่งลาบปลาเลยทีเดียว...ภูมิใจนำเสนอครับ อันนี้เพื่อนชาวน่านของผม ฝากฝีมือการปรุงลาบปลาเพี๊ยไว้ ประทับใจไม่ลืมเลือนเลยครับ...
ลาบปลาเพี๊ย

ปลาเพี๊ย 5 ตัวขึ้นไป แล้วแต่จะจับได้ครับ เอามาขอดเกล็ดออกให้หมด ตัดหัวตัดหาง ลอกเอาหนังออก ผ่าเอาเครื่องในมาใส่ถ้วยไว้ครับ ห้ามทิ้งเด็ดขาดเลยเชียว นั่นแหละของเด็ดครับ เก็บไว้ก่อน ทั้งหัวปลา หนังปลา และหางเถิดหนา...
มะแขว่น 1 ช้อนโต๊ะเอาคั่วไฟให้หอมก่อนครับ
พริกดำ 2-3 ช้อนโต๊ะ แต่ว่า ลาบปลาต้องเผ็ดๆครับ ถ้าพริกดำของเรายังไม่เผ็ดพอ ก็เอา
พริกขี้หนูแห้ง สัก 20 เม็ด คั่วไฟให้กรอบ แล้วนำมาโขลกรวมกับพริกดำครับ
ข่า 10 แว่น แบ่งมาสัก 5 แว่น คั่วไฟให้เกรียมเลยครับ
ตะไคร้ 3 ต้น
กระเทียม 2 หัว แกะกลีบแล้วคั่วให้เกรียมเลยทีเดียว
หอมแดง 10 หัว แบ่งมาคั่วไฟให้เกรียมเช่นเดียวกัน
เกลือป่น ปริมาณตามที่ปรุงแล้วอร่อยนะครับ บอกเป็นช้อนแน่นอนไม่ได้ร๊อก ต้องค่อยๆเติมไปชิมไปจนได้รสชาดพอดีนั่นแล...
ผักไผ่
ต้นหอม
ผักชี

วิธีทำ
เริ่มจาก เอาปลาเพี๊ยที่ทำความสะอาดเสร็จแล้วมาสับครับ สับทั้งก้างนั่นแล สับให้ละเอียดยิบ อย่าให้ เหลือชิ้นก้างไว้ตำคอเลยเชียว ระหว่างสับ ใส่ผักไผ่ลงไปสับด้วสักสามต้น สับไปเรื่อยๆจนเนื้อปลา เหนียวครับ และต้องให้แน่ใจด้วยนะว่า ก้างถูกสับจนไม่เป็นชิ้นแล้ว...ม่ายงั้น ก้างตำคอเอาตายเลยนะ...เสร็จแล้วใส่ถ้วยไว้ครับ
คราวนี้มาเตรียมพริกลาบกันครับ เราจะโขลกพริกดำ รวมกับพริกแห้งคั่ว (หากต้องการเพิ่มความเผ็ด) มะแข่วนคั่ว กระเทียม หอมแดง และข่าทีคั่วเสร็จแล้ว รวมเข้าด้วยกัน เนียนๆ ละเอียดๆ จนเป็นเนื้อเดียวครับ เสร็จและ เครื่องพริกลาบ...
ตั้งหม้อใส่น้ำสักหนึ่งชามแกง บนไฟกลาง ใส่ข่า 5 แว่น และทุบตะไคร้ หั่นเป็นท่อนๆใส่ลงไปหนึ่งต้น บุบหอมแดง 5 หัวใส่ลงไปด้วยครับ รอให้เดือด แล้วเราก็จะเอาเครื่องในปลาเพี๊ย รวมทังหัวและหางปลาใส่ลงไปครับ เคี่ยวสักพักจนหัวปลาสุกดีแล้ว เราก็จะปรุงรสด้วยเกลือป่นครับ ชิมดู...อืมย์...ขมอมหวาน ทั้งเค็มทั้งมัน กลมกล่อมดีแท้ ได้ที่แล้วก็ดับไฟได้ครับ
มายำลาบกันเถอะ
ตักน้ำต้นขี้ปลามาใส่ชามผสมสัก 1 ทัพพี เอาเครื่องพริกลาบลงใส่ คนให้ละลาย ปรุงรสด้วยเกลือป่น ให้ออกเค็มนิดๆ ค่อยๆใส่ทีละน้อยนะครับ อย่าลืมว่า ในน้ำต้มขี้ปลา เราก็ปรุงรสด้วยเกลือไว้แล้ว...ชิมรสได้อย่างใจแล้ว ก็เอาเนื้อปลาสับลงคลุกเลยครับ คลุกให้เนียน คลุกนานๆหน่อย เพื่อความแน่ใจว่า เนื้อปลาจะเข้าพริกเข้าเกลือดี...แล้วจึงซอยผักไผ่ ต้นหอม ผักชีใส่ลงไปคลุกอีกที โรยระเบิดซะหน่อย พริกขี้หนูสดไงครับ ระเบิดระเบ้อในปาก คร่อดดดดดเผ็ดสสสสสส...ตอนที่เพื่อนผมมันทำให้กิน กรรมวิธเสร็จลงเพียงเท่านี้ครับ เพราะเรากินกันแบบดิบๆน่ะสิ ซดน้ำต้มขี้ปลาด้วย สวดยวดดดดด...แต่หลังๆมา ลองมาทำเอง เกิดไม่กล้ากินดิบซะงั้น จึงเอาไปคั่วกับน้ำมันให้สุกก่อน ปลอดภัยชัวร์...โรยกระเทียมเจียวด้วย ยิ่งหอม อร่อยไปกันใหญ่เลยครับพี่น้องงงงงง...อ้อ...เวลาเสิร์ฟ อย่าลืมผักกับลาบด้วยเลยเชียว ก็มันของคู่กันนี่ครับ
นอกจากนี้ก็ยังมีปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ก็สามารถนำมาลาบได้เช่นกันครับ ปลาทับทิม กับปลานิล หาได้ง่ายในคลาดสดครับ ส่วนปลาตะเพียน ไม่ค่อยมีวางขาย เพราะมันไปกลายเป็นปลาส้มกันซะเยอะ

เยอะเนอะ...นี่ก็ภาค 4 แล้วเนี่ยะ...พบกันใหม่ในภาคต่อไปครับ

มีความสุขกันเยอะๆนะครับ
Mr.Ken

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น